ครูพันธ์ C (C teacher)

การเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า : ตอนอนาคตครูไทย ครูพันธุ์ C
โดย รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง
ผู้อำนวยการสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม


               เรากำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม / เศรษฐกิจไปสู่ สังคม / เศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based society/ economy) ซึ่งเป็นสังคม / เศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับ ทักษะกระบวนการคิด สารสนเทศ และ การจัดการกับสารสนเทศเป็นหลัก แม้ว่าการเข้าสู่ สังคม / เศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว หากการปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ผู้สอน รวมทั้งผู้เรียน เป็นไปอย่างช้าๆ ขาดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา การปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และการเรียนรู้ให้ตอบสนองกับสังคม / เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และรูปแบบการเรียนรู้ในยุคสมัยหน้าที่กำลังจะตามมา (next-generation of learning) อย่างไรก็ดี การปฏิรูปการศึกษาโดยการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและการเรียนรู้ ในลักษณะต่างๆ นั้น สิ่งสำคัญมากที่สุด ประการหนึ่ง ได้แก่ ความพร้อมของผู้สอน และผู้เรียน ในการตอบสนองกับวิธีการสอนและการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันดีว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้ยาก หรือเป็นไปอย่างจำกัด หากปราศจากซึ่งความพร้อมของครูผู้สอน และผู้เรียน

              บทความนี้จึงเขียนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นความพยายามส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หรือ คุณสมบัติที่สำคัญของ ครูผู้สอน และ ผู้เรียนยุคใหม่ ทั้งนี้เพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมของ ครู อาจารย์ และผู้เรียน เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาในบ้านเราเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผู้เขียนยังหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาจะได้ใช้ประโยชน์จากแนวคิดในบทความนี้ ในการทบทวนถึง หลักสูตรการเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้ดำเนินการอยู่ หรือ จะดำเนินการในอนาคต ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา เรียนรู้ในบ้านเราอย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป

บทความนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ คุณสมบัติที่จำเป็นของครูผู้สอน (หรือ C-Teachers ) คุณสมบัติที่จำเป็นของผู้เรียน รวมทั้ง รูปแบบการเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า (next-generation of learning)

อนาคตครูไทย ครูพันธ์ C (C-Teachers)
                C-Teachers ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ผู้สอนระดับ ซี แต่อย่างใด หากหมายความถึง ผู้สอนที่มีทักษะต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเรียนการสอนในอนาคตนั่นเอง C-Teachers ประกอบไปด้วยทักษะที่จำเป็น 8 ประการด้วยกัน
                1. C-Content ได้แก่ การที่ผู้สอนจำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเนื้อหาที่ตนรับผิดชอบในการสอนนั่นเอง C ตัวแรกถือเป็นลักษณะที่จำเป็นอย่างที่สุด และขาดไม่ได้สำหรับผู้สอน เพราะถึงแม้ผู้สอนจะมีทักษะ C อื่นๆ ทุกทักษะที่เหลือทั้งหมด แต่หากขาดซึ่งความเชี่ยวชาญในเนื้อหาการสอนของตนแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากครูผู้สอนที่ไม่แม่นในเนื้อหา หรือ ไม่เข้าใจในสิ่งที่ตนพยายามถ่ายทอด / ส่งผ่านให้แก่ผู้เรียน
                 ผู้เขียนได้รับอิทธิพลจากแนวคิด C-Learning ของ Dr. Sellinger จาก CISCO (2006) และได้นำมาประยุกต์แนวคิดเพื่อนำเสนอในบทความนี้

           2. C-Computer (ICT) Integration ได้แก่ การที่ผู้สอนควรที่จะมีการฝึกฝนทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ (ไอซีที) ในการบูรณาการกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน สาเหตุสำคัญที่ครูผู้สอนจำเป็นต้องมีทักษะด้านการประยุกต์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้โดยอาศัยคอมพิวเตอร์นั้น นอกจากจะเป็นการติดอาวุธด้านทักษะในการใช้ไอซีที โดยทางอ้อมให้แก่ผู้เรียนแล้ว หากมีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ยังสามารถส่งเสริม ทักษะกระบวนการคิดของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

          3. Constructionist ได้แก่ การที่ผู้สอนเป็นผู้สร้างสรรค์ หรือ มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดในเรื่อง constructionism ซึ่งมุ่งเน้นแนวคิดที่ว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้นั้น เป็นเรื่องภายในของตัวบุคคล จากการที่ได้ลงมือสร้างทำกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์หรือความรู้เดิมที่อยู่ในตัวบุคคลนั้นๆ มาก่อน ครูผู้สอนที่เป็นผู้สร้างสรรค์ค์นั้นไม่เพียงแต่จะสามารถใช้ทักษะนี้ในการพัฒนาในด้านของเนื้อหา องค์ความรู้ใหม่ๆ สำหรับผู้เรียนเองแล้ว หากยังสามารถ นำไปใช้ในการสร้างแผนการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นในตนเอง ผ่านการลงมือผลิตชิ้นงานต่างๆ เช่น งานศิลปะ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

              4. Connectivity ได้แก่ การที่ครูผู้สอนมีทักษะในการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนด้วยกัน เพื่อนครูทั้งในสถานศึกษาเดียวกัน และต่างสถานศึกษา หรือเชื่อมโยงกับ โรงเรียน (สถานศึกษา) บ้าน และ / หรือชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียน ทั้งนี้เนื่องจากแนวคิดที่ว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างดีนั้น เมื่อสิ่งที่เรียนรู้นั้นมีความสัมพันธ์โดยตรง หรือ เกี่ยวข้องกับ ความสนใจ ประสบการณ์ ความเชื่อ สังคม และ วัฒนธรรมของผู้เรียน การที่ผู้สอนสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้ ในชั้นเรียนกับเพื่อน ครู ในโรงเรียน (สถานศึกษา) บ้าน และสังคมแวดล้อมที่ผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่ง ได้มากเท่าใด ก็ย่อมทำให้ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เรียนรู้กับประสบการณ์ตรงได้มากเท่านั้น

           5. Collaboration ได้แก่ การที่ครูผู้สอนมีความสามารถในการเรียนรู้แบบร่วมมือกันกับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ผู้สอนจะต้องมีทักษะในบทบาทของการเป็นโค้ช หรือ ที่ปรึกษาที่ดีในการเรียนรู้ (ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะของการเรียนรู้ด้วยตนเอง) ของผู้เรียน รวมทั้ง การเป็นผู้เรียนเองในบางครั้ง ทักษะสำคัญของการเป็นโค้ช หรือ ที่ปรึกษาที่ดีนั้น ได้แก่ การสร้างฐานการเรียนรู้ ( scaffold ) ให้กับผู้เรียนเป็นระยะๆ อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดฐานการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยในการต่อยอดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมขึ้นได้ ทั้งนี้การเรียนรู้จะเกิดขึ้นในผู้เรียนได้อย่างจำกัด หากปราศจากซึ่งฐานการเรียนรู้ที่เหมาะสมจากผู้สอน

            6. Communication ได้แก่ การที่ครูผู้สอนมีทักษะในการสื่อสารกับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารให้มีประสิทธิภาพไม่ได้หมายถึง เฉพาะการพัฒนาให้เกิด ทักษะของเทคนิคการสื่อสารที่ดี เช่น การอธิบายด้วยคำพูด หรือข้อความ การยกตัวอย่าง ฯลฯ เท่านั้น หากยังหมายรวมถึงการเลือกใช้สื่อ (media) ต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้สอนสามารถส่งผ่านเนื้อหาสาระที่ต้องการจะนำเสนอ หรือสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสม

             7. Creativity ได้แก่ การที่ครูผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทักษะดังกล่าวนี้ ทั้งนี้เพราะบทบาทของครูผู้สอนในยุคสมัยหน้านั้น ไม่ได้มุ่งเน้นการเป็นผู้ป้อน / ส่งผ่านความรู้ ( impart ) ให้กับผู้เรียนโดยตรง หากมุ่งไปสู่ บทบาทของการสร้างสรรค์ ออกแบบสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน ผู้สอนจะได้รับการคาดหวังให้สามารถที่จะรังสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ต่างๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน

             8. Caring ได้แก่ การที่ครูผู้สอนจะต้องมีความมุทิตา ความรัก ความปรารถนา และความห่วงใยอย่างจริงใจแก่ผู้เรียน ในทักษะทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ทักษะ caring (มุทิตา) หรือ นี้นั้น นับว่าเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ ทั้งนี้เพราะความมีมุทิตา รัก ปรารถนาดี และห่วงใยกับผู้เรียนของครูนั้น จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อใจต่อผู้สอน ส่งผลให้เกิดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ในลักษณะการตื่นตัวอย่างผ่อนคลาย ( relaxed alertness ) แทนความรู้สึกวิตกกังวล ( anxiety ) ในสิ่งที่จะเรียนรู้ ซึ่ง การตื่นตัวอย่างผ่อนคลาย ถือว่า เป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้สมองเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              ในตอนแรกของบทความนี้ ได้กล่าวถึง คุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับครูผู้สอนของยุคการเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า (next-generation of learning) โดยได้แนะนำถึง คุณลักษณะพึงประสงค์ 8 ประการ ของครูผู้สอนในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับ การออกแบบ หลักสูตรเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู หรือ สถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ในการผลิตบุคลากรทางการศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของทักษะฯ ที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะใหม่ๆ ( ลำดับที่ 2- ลำดับที่ 7) ซึ่งต้องการการฝึกฝน และเรียนรู้จาก ต้นแบบ ( trainers/ instructors) หรือ ตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะในปัจจุบัน ได้เริ่มมีความพยายามในการอบรม ให้ความรู้ ที่เน้นทักษะใหม่ๆ ดังกล่าวไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี การขยายผลยังคงเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งนี้เพราะการที่ครูผู้สอนขาดการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ขาดตัวอย่างกิจกรรม / ครูต้นแบบ รวมทั้งขาดการส่งเสริมการพัฒนาทักษะอย่างเป็นระบบและทั้งระบบ ที่จะทำให้การพัฒนาทักษะดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม


สถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
โทร. 0-5394-3811,0-5394-3822 แฟกซ์ 0-5321-6747,0-5394-3818 e-mail : itsc@chiangmai.ac.th
Copyright © 2004 All right reserved
ขออนุญาต และขอขอบคุณ เจ้าของบทความ จากเว็บไซต์

http://www.it.chiangmai.ac.th/issuedetail.php?ID=12